8.5.60

รพ.เอกชนไทยขยายฐานในต่างประเทศ




รพ.เอกชนแห่ลงทุนต่างประเทศ เกษมราษฎร์ปักหมุดเวียงจันทน์ ธนบุรีชิงลงทุนย่างกุ้ง ด้านปิยะเวทผนึกบางปะกอกปูพรมคลินิกอาเซียน-จีนแตกแบรนด์ใหม่ "ปิยะเวท-บีพีเค" เครือกรุงเทพลงทุนธุรกิจแล็บบุกเมียนมา จับตาซื้อกิจการยังดุเดือด
ที่ผ่านมา กลุ่ม รพ.เอกชนได้เข้าไปลงทุนต่างประเทศในรูปแบบของการจัดสำนักงานเพื่อส่งต่อคนไข้กลับมาประเทศไทยอย่างต่อเนื่องแต่ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจขณะนี้เป็นภาพการแห่เข้าไปลงทุนสร้างโรงพยาบาลและคลินิกในหลาย ๆ ประเทศ

"อย่างในเมียนมามีคลินิกจำนวนมากและมี รพ.เอกชนของไทยเกือบทุกเจ้าเข้าไปเช่าตึกแถวทำเป็นคลินิก ตรวจคัดกรองคนไข้ก่อนส่งมารักษาที่ไทย อย่างไรก็ตามการส่งต่อคนไข้ผ่านเอเยนซี่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากนโยบายรัฐบาลแต่ละแห่งต้องการดึงให้เข้าไปลงทุนสร้าง รพ.ในอาเซียน ตะวันออกกลาง" แหล่งข่าวระดับสูงจาก รพ.เอกชนระบุ

เกษมราษฎร์ปักหมุดเวียงจันทน์

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเกษมราษฎร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธุรกิจโรงพยาบาลแข่งขันรุนแรง เนื่องจากตัวแปรต่าง ๆ อาทิ กลุ่มทุนจากภายนอกที่เข้ามาขณะที่รายเดิมพยายามขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งในซีแอลเอ็มวีและตะวันออกกลาง รวมถึงขยายตัวด้วยการเข้าซื้อกิจการ ส่วนข้อจำกัดบุคลากรเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีจะไม่มีปัญหานี้ เพราะเริ่มผลิตได้มากขึ้น และการขยายคลินิกนอกเวลาของ รพ.รัฐ

บริษัทได้แตกแบรนด์เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าไปลงทุน รพ.ในเวียงจันทน์ ขนาด 250 เตียง งบฯกว่า 1,000 ล้านบาท เปิดให้บริการปี 2562 และมีแผนสร้างคลินิกตามเมืองใหญ่ โดยมองโอกาสจากคนลาวผ่านเข้ามารักษาตัวทางหนองคาย อุดรธานี ขณะที่ในเวียงจันทน์มีนักท่องเที่ยวและคนต่างชาติอาศัยอยู่มาก รวมถึงคนเวียดนามที่เข้ามารักษาได้สะดวก

"เมียนมาเป็นที่ต่อไปที่กำลังพิจารณาเข้าไปลงทุน ต่อยอดจากที่เข้าไปลงทุนสำนักงานใน 3 เมืองใหญ่ และมีความร่วมมือส่งต่อคนไข้ ส่วนแผนการรองรับคนไข้จากกัมพูชา กำลังจะสร้าง รพ.ที่อรัญประเทศในปลายปีนี้"

ทั้งนี้ เกษมราษฎร์ได้มีการขยายสำนักงานในหลายประเทศ อาทิ ปากีสถาน ซูดาน ฯลฯ ซึ่ง นพ.เฉลิมระบุว่า การลงทุนต่างประเทศต้องพิจารณาหลายด้าน อาทิ ขนาดประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ และข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ จึงต้องเลือกบิสซิเนสโมเดลให้ดีเพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งไทยได้เปรียบเพราะสินค้าและบริการสุขภาพเป็นที่นิยมในซีแอลเอ็มวี

"อย่างอาเซียนถือว่ามีความพร้อมเนื่องจากจีดีพีเติบโตสูง เมียนมา 8% ลาวและเวียดนาม 6-7% ประชากรมีจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเข้าไปลงทุน ซึ่งไม่ใช่แค่ทุนไทย แต่กลุ่มทุนนอกอาเซียน สิงคโปร์ อินเดียก็สนใจเข้าไปลงทุนตลาดเหล่านี้ นี่เป็นเทรนด์ใหม่"

ธนบุรีชิงขึ้น รพ.บุกเมียนมา

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้สร้าง รพ.ในเมียนมา ชื่อ ARYU International Hospital ขนาด 200 เตียง งบฯ 4,000 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ จับกลุ่มลูกค้ากลาง-บน และยังสนใจลงทุนในซีแอลเอ็มวี

ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาได้เปิดสำนักงานในหลายประเทศอาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ปีนี้มีแผนลงทุนคลินิก 2-4 แห่งในเออีซี ตะวันออกกลาง จีน และแอฟริกา งบฯ 50 ล้านบาท ทั้งนี้หลังจากกลุ่มบางปะกอกซื้อกิจการปิยะเวท การลงทุนคลินิกจากนี้จะใช้ชื่อ "ปิยะเวท-บีพีเค" รวมทั้งเปลี่ยนชื่อคลินิกเดิม ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาได้เปิดคลินิกในเมียนมา และศูนย์กายภาพที่โอมาน ทั้งนี้มีประเทศในตะวันออกกลางสนใจให้เข้าไปเปิดศูนย์รักษาแผลเบาหวานที่เท้า

"กรุงเทพ-บำรุงราษฎร์"นำขบวน

เครือ รพ.กรุงเทพเป็นรายแรก ๆ ลงทุนต่างประเทศ ปัจจุบันมี รพ.รอยัล พนมเปญ และลงทุนห้องแล็บตรวจโรคในนามเอ็น เฮลธ์ ที่ได้เข้าไปลงทุนในกัมพูชา และล่าสุดที่เมียนมา ทั้งนี้ปี 2557 ได้ตั้งบริษัทย่อย Samitivej international Co.Ltd. ในเมียนมา ถือหุ้นผ่านบริษัท เอส วี โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.สมิติเวช ส่วนบำรุงราษฎร์ได้เปิดบำรุงราษฎร์คลินิกที่ย่างกุ้ง และ รพ.อูลานบาตอร์ ซองโด ในมองโกเลีย

สำหรับโรงพยาบาลอื่น ๆ ยังมีอีกหลายกลุ่มสนใจเข้าไปศึกษาตลาด อาทิ วิภาวดี เคยศึกษาตลาดจีน เมียนมา และมีรัฐบาลบางประเทศติดต่อไปรับจ้างบริหาร อาทิ จีน ตะวันออกกลาง ส่วนจุฬารัตน์เคยศึกษาตลาดเมียนมาและกัมพูชา แต่มองว่าตลาดยังไม่พร้อมในแง่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน บุคลากร เครื่องมือแพทย์ใช้งบฯสูง กฎหมายและนโยบายส่งเสริมการลงทุน

นายชาคริต ศึกษากิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวชธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีนักลงทุนจากย่างกุ้งติดต่อให้ไปลงทุน และจ้างบริหาร แต่ติดปัญหาบุคลากร และมองว่ายังไม่คุ้มในแง่ของผลตอบแทนทางการเงิน จึงเน้นส่งต่อคนไข้ ล่าสุดเพิ่งเปิดสำนักงานใหม่ที่มัณฑะเลย์ เพิ่มจากที่มีในย่างกุ้ง เพราะคนไข้เมียนมามารักษาที่ไทยเป็นตลาดใหญ่และโตทุกปี

ซุ่มซื้อขายกิจการอีกเพียบ

แหล่งข่าวจากรพ.เอกชนเผยว่า ปัจจุบันยังมี รพ.เอกชนต้องการขายกิจการอีกมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลเดี่ยวซึ่งโอกาสเติบโตยากและแข่งขันลำบาก มีสัดส่วน 50-70% ของ รพ.เอกชน 300 แห่ง ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลเล็กขนาด 30-40 เตียงทยอยปิดกิจการไปบ้าง

นพ.พลสันต์ พลัสสินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ชลเวช กล่าวถึงการซื้อกิจการว่า อยู่ระหว่างเจรจา 2 ราย ในกรุงเทพฯโซนตะวันออก ส่วนแผนลงทุน 3 ปีจากนี้จะใช้งบฯลงทุนปีละ 500-600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพจำนวนเตียง โดยแต่ละปีจะทยอยเปิดโรงพยาบาล เริ่มจากปีนี้เปิดจุฬารัตน์ ชลเวช ถัดมาเป็น รพ.จุฬารัตน์ 304 ปราจีนบุรี และ รพ.รวมแพทย์ฉะเชิงเทรา

ส่วน นพ.เฉลิมระบุว่า กลุ่มเกษมราษฎร์อยู่ระหว่างเจรจาหลายราย เช่นเดียวกับ นายพิจิตต์ วิริยะเมตตากุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีเจรจาเกิดขึ้นตลอด ขณะนี้มี 2-3 แห่งในกรุงเทพฯ โดยปลายปีก่อนเพิ่งใช้งบฯ 300 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น รพ.บางโพ และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่วนปีนี้มีแผนจะเปิด รพ.วิภาราม นวมินทร์


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น