8.5.60

กรณีศึกษา : เป๊บซี่พลิกกลยุทธ์กู้วิกฤต





"เป๊ปซี่ โค" เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากกระแสสุขภาพอย่างหนัก ด้วยพอร์ตโฟลิโอที่มีทั้งน้ำอัดลม อาทิ เป๊ปซี่ และเมาเทนดิว รวมถึงขนมขบเคี้ยวของ "ฟริโต-เลย์" ที่เป็นบริษัทในเครือจนส่งผลให้ยอดขายลดลงต่อเนื่องนานถึง 8 ไตรมาส

ก่อนจะกลับเป็นบวกอีกครั้งในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว หลังปรับกลยุทธ์การตลาดและพอร์ตสินค้าเน้นกลุ่มเครื่องดื่มและอาหารที่เป็นมิตรกับสุขภาพมากขึ้น

และล่าสุดยอดขายไตรมาสแรกของปี 2560 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 โดย "อินดรา นูยี" ซีอีโอของเป๊ปซี่ โค ยกความดีความชอบให้กับกลยุทธ์เน้นไลน์อัพสินค้าใหม่ ๆ ที่ความเป็นมิตรกับสุขภาพหรือที่บริษัทเรียกว่า everyday nutrition products อาทิ เครื่องดื่มที่ให้พลังงานน้อยกว่า 70 กิโลแคลอรีต่อ 350 มล. และขนมที่ลดปริมาณเกลือและไขมันอิ่มตัวลง รวมถึงการใช้ธัญพืช ผลไม้ ผักและโปรตีนเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 45% ของยอดขายทั้งหมด 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มสินค้าที่เติบโตเร็วที่สุดในพอร์ตโฟลิโอของบริษัทอีกด้วย

"การเติบโตนี้พิสูจน์ว่าการหันลงทุนด้านวิจัยพัฒนาอาหาร-เครื่องดื่มที่เป็นมิตรกับสุขภาพเพื่อรองรับดีมานด์ของผู้บริโภคจนได้สินค้าใหม่ๆ อย่างเซเว่นอัพสูตรลดน้ำตาล 30%, น้ำมะนาวแบบอัดลมและมันฝรั่งแผ่นอบ ซึ่งได้รับการตอบรับดีจากทั้งคอน้ำอัดลมและผู้ชื่นชอบมันฝรั่งทอดนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง"
สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้จะเดินหน้าขยายไลน์อัพสินค้ากลุ่มนี้ให้หลากหลายขึ้นอาทิ ป๊อปคอร์นแคลอรีต่ำ "สมาร์ทฟู้ด ดีไลท์" รวมถึงเตรียมเปิดตัวฟรุตบาร์แบรนด์เควกเกอร์ (Quaker) ในบราซิล


อย่างไรก็ตาม แผนการนี้ยังมีความท้าทายอยู่ โดยเฉพาะเควกเกอร์ แบรนด์อาหารและขนมซึ่งบริษัทพยายามเน้นภาพลักษณ์ด้านสุขภาพมานานกลับมียอดขายในตลาดอเมริกาเหนือลดลง 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้ว แต่ซีอีโอหญิงยืนยันว่า ยังมั่นใจว่ากลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม อาทิ เน้นย้ำเรื่องสารอาหารและมุ่งเจาะช่องทางร้านชำจะช่วยให้แบรนด์นี้สามารถกลับมาเติบโตได้อีกแน่นอน

ในขณะเดียวกันนี้ผลประกอบการของ"โคคา-โคลา" คู่แข่งสำคัญกลับไม่สามารถสร้างการเติบโตได้ โดยไตรมาสแรกยอดผลิตน้ำอัดลมลดลง 1% ส่วนเครื่องดื่มอื่น ๆ อยู่ในสภาพทรงตัว ยกเว้นสปอร์ตดริ๊งค์และชา กาแฟที่เติบโต 2-3% จนต้องขยายเป้าแผนลดค่าใช้จ่ายจาก 800 ล้านเหรียญสหรัฐเป็น 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงลดจำนวนพนักงานลง 1,200 อัตรา ตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้เป็นต้นไป

เช่นเดียวกับผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจอาหารหรือกลุ่ม "บิ๊กฟู้ด" ซึ่งประกอบด้วย เฮอร์ชี่ เยนเนอรัลมิลล์ เคลล็อกและคราฟต์-ไฮน์ซ ซึ่งต่างตัดสินใจลดพนักงานเพื่อควบคุมต้นทุนทางธุรกิจ เพื่อรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์สุขภาพและการแข่งขันด้วยนวัตกรรมสินค้ากับภาพลักษณ์ทันสมัย

ซึ่งหลังจากนี้ต้องจับตาดูว่า"เป๊ปซี่" จะสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตเอาไว้ได้หรือไม่และขณะเดียวกันโคคา-โคลาจะแก้เกมนี้อย่างไร



ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น