2.4.55

วิเคราะห์ และตรวจอาการเศรษฐกิจไทย


การวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ต้องมองในสามมิติ หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก และผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย สอง  นโยบายของทางการไทยเอง ว่า กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร และสิ่งที่ทำอยู่จะกระทบเศรษฐกิจอย่างไร และ สาม ความรู้สึก และการตอบสนองของภาคเอกชนกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งสามมิตินี้ เมื่อรวมกัน ก็คือ ผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งความเห็นของผมเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีดังนี้
 
ในแง่เศรษฐกิจโลก ชัดเจนว่าปีนี้ ปัญหาหนี้ยุโรปเป็นจุดอ่อนสำคัญ และเศรษฐกิจยุโรปคงเข้าสู่ภาวะถดถอย ที่ต้องตระหนัก ก็คือ แม้เศรษฐกิจสหรัฐล่าสุด ตัวเลขต่างๆ จะดูดีขึ้น แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปจะมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจเอเชีย รวมถึงจีน ที่ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มชะลอ ผ่านการชะลอของการค้าโลก ซึ่งก็จะกระทบการส่งออกของไทย
 
อีกประเด็น ก็คือ ราคาน้ำมันที่ได้ปรับสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนความห่วงใยของตลาด จากกรณีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ กับอิหร่าน ในเรื่องการพัฒนาโปรแกรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมถึงการมองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นไปแล้วประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี ถ้าราคาน้ำมันปีนี้ยืนอยู่ในระดับที่สูง ก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่มีมาก จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ก็จะกระทบเศรษฐกิจไทยในแง่เงินทุนไหลเข้า สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และราคาสินทรัพย์ที่อาจปรับสูงขึ้นเร็วเกินไป อันนี้ คือ สองสามประเด็นสำคัญในแง่เศรษฐกิจโลกที่จะกระทบเศรษฐกิจไทย
 
สำหรับเศรษฐกิจไทยเอง เศรษฐกิจกำลังปรับตัวกับผลกระทบของน้ำท่วม เพื่อเข้าสู่การทำงานที่เป็นปกติ ตัวเลขเดือนมกราคมชี้ว่า การฟื้นตัวของภาคการใช้จ่าย และภาคการผลิตในประเทศ กำลังเกิดขึ้น แต่ไม่ได้พุ่งทะยานอย่างที่หลายฝ่ายคิด โดยเฉพาะด้านการผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมยังอยู่ระดับต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตก็ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับของเดือนกันยายนที่แล้วก่อนเกิดน้ำท่วม ด้านการใช้จ่าย การลงทุนของภาคเอกชนยังไม่เร่งตัว ขณะที่การขยายตัวของการส่งออกในเดือนมกราคมก็ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก สิ่งเหล่านี้ชี้ว่า Momentum หรือกำลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นยังไม่เป็นกอบเป็นกำ ยกเว้นในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย ที่ได้ประโยชน์จากสินเชื่อ การลดภาษี และการกระตุ้นของภาครัฐ แต่ส่วนที่เหลือ กิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่พุ่งทะยาน และเมื่อการผลิตยังไม่ขยายตัวมาก ผลการขยายตัวของการใช้จ่ายที่มีต่อเศรษฐกิจ จึงออกมาในรูปของการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าในประเทศ และราคาสินทรัพย์ คือ หุ้นและพันธบัตรมากกว่าจะเป็นการขยายตัวของรายได้
 
ประเด็นหลังนี้ จึงสะท้อนความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ขณะนี้ ว่า ตลาดหุ้นดี การใช้จ่ายของครัวเรือนคล่องขึ้น (จากสินเชื่อ) แต่รายได้ หรือกำลังซื้อของประชาชนไม่ขยายตัว ขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้น ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 โดยเฉพาะราคาอาหารที่เป็นผลจากน้ำท่วมที่มีต่ออุปทาน หรือการผลิตอาหารในประเทศ และจากราคาน้ำมันที่ได้ปรับสูงขึ้น และถ้ามีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมา อัตราเงินเฟ้อก็สามารถเร่งตัวขึ้นอีก
 
สำหรับนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐ ขณะนี้ ไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่ทางการได้สร้างความเข้าใจตั้งแต่หลังน้ำท่วม ว่า นโยบายด้านการคลังและการเงิน จะมุ่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านการคลัง นอกจากการผลักดันการกู้เงินใหม่ผ่านการออก พระราชกำหนด ความชัดเจนในวิธีการใช้เงิน และในแผนการลงทุนป้องกันน้ำท่วมยังไม่มีรายละเอียดมากในสายตานักลงทุน ซึ่งถ้ามาตรการของรัฐไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่เป็นข่าวไป โดยเฉพาะในโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภาคเอกชนก็คงจะต้องพึ่งตัวเองในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งต่อไป ทำให้ในแง่ธุรกิจ น้ำท่วมยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ในแง่นี้เราจึงเห็นอัตราค่าธรรมเนียมประกันภัยอุทกภัย และน้ำท่วมของภาคเอกชนไทยเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง จนรัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อลดภาระ ซึ่งมีผลลดทอนแรงจูงใจของภาคธุรกิจที่จะลงทุนใหม่
 
ดังนั้น ขณะนี้ สิ่งที่พอจะสรุปได้ ก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมกำลังเกิดขึ้น แต่ไม่พุ่งทะยาน และการฟื้นตัวคงใช้เวลา เพราะข้อจำกัด หรือปัญหาคอขวดในการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีอยู่ นโยบายของทางการที่ทำมาสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่วิธีการแก้ไขไม่สามารถสร้างพลัง และจูงใจให้ธุรกิจเอกชนเดินตามในแง่การลงทุน ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ก็อาจเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมให้พลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแรงลงในระยะข้างหน้า ซึ่งก็เริ่มเห็นแล้วจากตัวเลขปริมาณเงิน ทั้งตัวเลขฐานเงิน และตัวเลขปริมาณเงินตามความหมายแคบ หรือ M1 ที่อัตราการเพิ่มชะลอลงต่อเนื่องในเดือนมกราคม ในทางเศรษฐศาสตร์ ตัวเลขปริมาณเงินมักชี้นำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต
 
และที่ไม่ควรวางใจ ก็คือ เรื่อง เงินเฟ้อ ที่จะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน และลดทอนกำลังของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว ซึ่งถ้าเงินเฟ้อเพิ่มเร็ว รัฐบาลก็จะต้องเสียเวลามากกับการช่วยเหลือภาคประชาชนปรับตัวต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างที่กำลังทำขณะนี้ ทำให้รัฐบาลจะต้องมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่าจะแก้ที่ต้นเหตุ ก็คือ แก้สาเหตุที่ ทำให้ราคาสินค้าแพง
 
ดังนั้น ประเด็นที่อยากฝากไว้ ก็คือ ไม่อยากให้ทั้งรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินความเสี่ยงที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อต่ำเกินไป เพราะจะทำให้เศรษฐกิจขาดโอกาสที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่การดูแลเงินเฟ้อถ้าถูกปล่อยวาง จนไม่ทันเหตุการณ์ ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อ และการเพิ่มของต้นทุนการผลิตผสมผสานกันเป็นแรงกดดันขาขึ้น จนเงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้การแก้ไขปัญหาตามมาต้องใช้มาตรการรุนแรง ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก
 
ก็หวังว่าข้อสังเกตเหล่านี้จะเป็นประโยชน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น