12.9.60

พฤติกรรมผู้บริโภค 4.0

“รีวิว-โซเชียลมีเดีย” มีอิทธิพลสูงสุด

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจ หรืออีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศ เพื่อให้เข้าใจถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการบริโภคทั้งในด้าน ไลฟ์สไตล์ รูปแบบสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องการ รวมถึงสื่อที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจต้องจับตา และปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุค 4.0 ได้

โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,701 ตัวอย่าง กว่า 67% เป็นผู้หญิง และ 33% เป็นผู้ชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อายุระหว่าง 31-41 ปี เป็นพนักงานบริษัทกว่า 48% รองลงมาคือราชการและรัฐวิสาหกิจ 14% และส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ 3-5 หมื่นบาท 51% อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯและอีก 49% อยู่ในต่างจังหวัด

วิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ อีไอซี บอกว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมีการใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการด้านไลฟ์สไตล์มากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ที่มีรายได้สูงยังมีการใช้จ่ายนอกบ้านมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มผู้สูงวัยจะเน้นความเป็นอยู่ที่ดี และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม หากมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือการปรับปรุงที่อยู่อาศัย และการออกไปทานอาหารนอกบ้าน

ซื้อขายออนไลน์โตเฉลี่ยปีละ 13%

นอกจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภคไทยยุค 4.0 เน้นเสพสื่อบันเทิงเป็นหลัก โดยกว่า 75% ของผู้บริโภคใช้เวลาว่างกับการเล่นอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย โดยผู้บริโภคไทยช่างเลือก และหาข้อมูลมากขึ้นในการซื้อสินค้าและบริการ อีกทั้งยังมีความต้องการสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจงกับตัวเอง และกล้าซื้อสินค้ารวมถึงใช้บริการต่างๆ ในช่องทางออนไลน์มากขึ้น
ผลสำรวจพบว่า กว่า 80% ของผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ปรับแต่งตามความต้องการเฉพาะบุคคลได้ (personalization) หรือได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น และการหาข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ยังคงเป็นช่องทางสำคัญโดยเฉพาะเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและร้านอาหาร
ในขณะที่ตลาด e-commerce แม้ว่าจะยังเป็นสัดส่วนน้อยในมูลค่าค้าปลีกรวม แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่องเฉลี่ย 13% ต่อปี ทั้งนี้ กว่า 90% ในกลุ่มผู้บริโภคที่อายุต่ำกว่า 40 ปีล้วนเคยซื้อของทางออนไลน์ เพียงแต่ยังไม่ใช่ช่องทางหลัก โดยใช้บริการเพียง 1-2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ธุรกิจจึงยังต้องพัฒนาช่องทางเข้าถึงลูกค้าหลายช่องทางไปพร้อมๆ กัน

 

ผู้บริโภค 50% เชื่อถือรีวิวสินค้า

ทั้งนี้ เมื่อมาดูถึงสื่อที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค พบว่า การรีวิว และโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ทรงพลังมากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มท่องเที่ยว ร้านอาหาร สินค้าเพื่อความงาม และบริการเสริมความงาม จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคกว่า 50% มักเชื่อรีวิว และข้อมูลที่มีการแชร์บนโลกออนไลน์มากกว่าสื่ออื่นๆ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้กระแสและความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าจากผู้คนทั่วทุกมุมโลก
สื่อดั้งเดิมอย่างทีวี ยังทีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากนัก
สำหรับกลยุทธ์สำคัญที่ภาคธุรกิจไม่ควรมองข้ามในการพิชิตใจผู้บริโภคในยุค 4.0 มี 3 ส่วนคือ 1.จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจงตอบโจทย์เฉพาะของตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์โดยร่วมมือเป็นพันธมิตรกันภายใน value chain มากขึ้นและอาศัยเทคโนโลยีและ big data มาช่วยวางแผนธุรกิจ
2. นอกจากนี้ธุรกิจควรมีการเชื่อมโยงข้อมูล ตั้งแต่ปลายน้ำ อย่างธุรกิจค้าปลีกที่เข้าถึงข้อมูลความต้องการของลูกค้าใกล้ชิดที่สุด มาสู่ต้นน้ำอย่างผู้ผลิต เพื่อให้ออกแบบสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะเจาะจงในแต่ละกลุ่ม ตลอดจนใช้ big data ในการบริหารจัดการสต็อกสินค้า กำหนดราคา ไปจนถึงกลยุทธ์การตลาดโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
การสร้าง brand loyalty ไม่เพียงพอสำหรับการทำธุรกิจในยุคนี้แล้ว แต่ธุรกิจที่จะอยู่รอดอย่างยั่งยืน ต้องเน้นสร้างความผูกพันกับลูกค้าตอกย้ำให้เห็นว่าการรักษาฐานลูกค้าเดิม มีความสำคัญเช่นเดียวกับการหาลูกค้าใหม่ โดยอาวุธสำคัญคือการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าเพื่อใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและผู้บริโภคกว่า 80% ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหากสินค้าที่บริโภคมีบริการหลังการขายที่ดีขึ้น

ออนไลน์ยังแทนที่หน้าร้านไม่ได้

3. การพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าไม่เพียงแค่มีหลายช่องทาง แต่ทุกช่องทางต้องเชื่อมโยงกันทั้งหมดเสมือนเป็นช่องทางเดียวกัน (omni-channel) เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันหาข้อมูลจากหลายช่องทางโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์เพื่อเปรียบเทียบสินค้าและบริการ ทำให้ช่องทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักที่ธุรกิจต้องมีเพื่อตอบสนองลูกค้าได้อย่างทันที
อย่างไรก็ตาม ช่องทางออนไลน์ไม่ถึงขั้นมาแทนที่ช่องทางหน้าร้านได้ทั้งหมด เพราะแม้แต่ธุรกิจที่เกิดจากออนไลน์ก็ยังต้องหันมาพัฒนาช่องทางหน้าร้านเพื่อตอบสนองลูกค้าด้วยเช่นกัน โดยแต่ละช่องทางไม่ได้มาแข่งขันกันเองแต่จะต้องช่วยเสริมกันทั้งการนำเสนอโปรโมชั่นที่สอดคล้องกันทุกช่องทางการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้ ณ ทุกจุดที่ติดต่อ
“แนวโน้มธุรกิจบริการในปีนี้ ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง และเติบโตในระดับที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคแม้จะไม่ได้เพิ่มขึ้นในทุกส่วน แต่ก็มีส่วนที่เพิ่มขึ้น เช่นกำลังซื้อในภาคการเกษตร จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มปรับเพิ่มขึ้นมา ก็จะมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของการบริโภคสินค้า และบริการได้”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 2560

25.8.60

กลยุทธ์ 4R ของมาลี

เป็นเวลา 39 ปีที่ “มาลี กรุ๊ป” หรือชื่อเดิมคือ “มาลีสามพราน” โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋อง ทำให้เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “มาลี” คนส่วนใหญ่นึกถึงผลิตภัณฑ์สองกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในตลาดน้ำผลไม้พรีเมียม ที่เป็น 1 ใน 3 แบรนด์หลักของเซ็กเมนต์นี้ (อีก 2 แบรนด์คือ ทิปโก้ และดอยคำ)








ถึงแม้ตลาดน้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋อง เป็นรากฐานธุรกิจอันแข็งแกร่งของ “มาลี กรุ๊ป” มาเนิ่นนาน แต่มองในอีกมุมหนึ่งหากยึดแต่ฐานที่มั่นดังกล่าว จะกลายเป็น “ข้อจำกัด” การเติบโตทางธุรกิจทั้งในวันนี้ และอนาคต เพราะตลาดน้ำผลไม้ในไทยที่มีมูลค่า 14,000 ล้านบาท ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ก็เติบโตอย่างมากแค่ Single Digit หรือบางช่วงสถานการณ์อาจอยู่ในภาวะติดลบ อย่างปีนี้ที่เจอผลกระทบจากเศรษฐกิจเข้าไปอีก มีแต่โตลดลง ทำให้ตลาดน้ำผลไม้โดยรวมติดลบ 0.3%


ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มาลีได้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายทั้งในแบรนด์มาลีและการรับจ้างผลิต (Contract Manufacturing หรือ CMG) ไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ อาทิ ภูมิภาค CLMV จีน ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา โดยมีอัตราการเติบโตถึง 30-40% โดยนับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของมาลี กรุ๊ป ซึ่งภารกิจต่อจากนี้ของมาลีกรุ๊ป คือการเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทฯ สู่เป้าหมายการเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก ผ่านกลยุทธ์ ‘4R’ ที่มุ่งเน้นการสร้างความพร้อมในการดำเนินธุรกิจจากภายในองค์กรสู่ภายนอกองค์กร

กลยุทธ์ 4R สู่การเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก
1. Rebrand
มาลี เป็นที่รู้จักในตลาดเมืองไทยมาเกือบ 40 ปี ในชื่อของ “มาลีสามพราน” ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “มาลี กรุ๊ป” ในพ.ศ. 2559 การปรับภาพลักษณ์ของบริษัทในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยน Brand Identity ใหม่ ที่ได้รับการออกแบบให้ดูทันสมัย สื่อถึงความเป็นสากล และสะท้อนความเป็นตัวตนของมาลี ในการเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Growing Well Together” ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ ที่ประกอบด้วย ผู้บริโภค พนักงาน เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจที่มาลี กรุ๊ป ยึดมั่นและให้ความสำคัญมาตลอด 40 ปี





นอกจากการปรับ Brand Identity ใหม่ของมาลีกรุ๊ปแล้ว ในส่วนของผลิตภัณฑ์แบรนด์มาลี ก็ได้มีการปรับ Product Portfolio ใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้สอดคล้องกับทิศทางของบริษัทที่มุ่งเน้นไปยังผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

2. Reorganize
 สร้างความพร้อมให้กับบุคลากรภายในองค์กร โดยปรับโครงสร้างองค์กรทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดทัพทีมผู้บริหารใหม่ รวมถึงการคัดสรรและผลักดันบุคลากรเดิมของมาลี สู่ตำแหน่งที่เหมาะสมกับความสามารถ เพื่อให้เกิดการผสมผสานของทักษะและประสบการณ์ รวมทั้งการปรับโปรแกรมการพัฒนาบุคลากร ที่ประกอบด้วย
1) เพิ่มศักยภาพและทักษะการทำงานให้แก่พนักงานทุกระดับ โดยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น
2) จัดตั้งหน่วยงานใหม่ เช่น Business Development และInternational Business เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก และ
3) การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ด้วยการสร้างความสามัคคีให้พนักงานทุกคนร่วมมือและเชื่อใจกัน รวมถึงมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ







3. Renovate
จัดสรรงบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสถานที่ทำงาน เครื่องจักร และกระบวนการทำงาน ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่นำสมัย เครื่องมือในการวิจัยและพัฒนา ระบบการควบคุมคุณภาพสินค้า และระบบ Back Office เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ประกอบด้วย
1) การวาง Master Plan โรงงานใหม่ทั้งหมดให้ทันสมัยขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
2) ลงทุนเครื่องจักรใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตจาก 300 ล้านลิตรเป็น 330 ล้านลิตรต่อปี รองรับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3) ระบบ Back Office ด้วยการพัฒนาระบบ IT ระบบ CRM รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูล (Data Mining) มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีมงาน และ
4) ปรับปรุงออฟฟิศใหม่ เพื่อให้พนักงานมีความสุขกับการทำงาน ผ่านแนวคิดในการออกแบบ “ให้ออฟฟิศเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2” อาทิการแบ่งโซนระหว่างทำงานและผ่อนคลาย รวมทั้งการนำระบบปรับอากาศที่มีการถ่ายเทอากาศออกไปสู่ข้างนอก เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของพนักงาน

4. Reconnect
มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเสริมแกร่งและพัฒนาความร่วมมือกับบริษัทพาร์ตเนอร์ชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ในการพัฒนาสินค้าใหม่ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต การพัฒนาช่องทางขายและการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Monde Nissin Corporation ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศฟิลิปปินส์,  Mega Lifesciences ผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น

แผนความร่วมมือในรูปแบบใหม่ของมาลีกรุ๊ปในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการตอบสนองต่อสภาพตลาดและความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 






การปรับตัวครั้งใหม่ของมาลีอาจเรียกได้ว่าเป็นการ Transform สู่การเป็น New Generation of Malee เลยก็ได้ จากการปรับกลยุทธ์ การปรับองค์กร การปรับ Mind Set และการให้ความสำคัญกับคนในองค์กร รวมถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของมาลี ที่ตั้งเป้าไว้ชัดเจน ซึ่งนั่นจะทำให้มาลีสามารถเดินไปถึงฝั่งได้ถูกทางและเร็วมากขึ้น
และอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือ การปรับองค์กรจากเดิมสู่องค์กรยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับคนในองค์กรเป็นอันดับแรก เพราะมาลีเชื่อว่าการ Growing Well Together จะสร้างความยั่งยืนได้ในระยะยาว ซึ่งนี่เป็นอีกตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราเห็นว่า การปรับองค์กรและวัฒนธรรมองค์กรระหว่างคน 2 Generation ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า สามารถทำได้ แต่ความยากคือการจะทำให้ Generation Gap นั้นจูนกันติดจะต้องใช้ความเข้าใจและร่วมมือกัน สุดท้ายแล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเปลี่ยน แต่ถ้าองค์กรยังคงยึดอยู่กับสิ่งเดิมๆ แล้วความยั่งยืนจะเกิดได้อย่างไร?

รวบรวมข้อมูลจาก Brandage และ Brandbuffet



เจ้าสัวเจริญบุกแกรมมี่



"แกรมมี่" ขายทีวีดิจิทัลอีกช่อง เหลือหุ้นแค่ 50% รับเงิน “เจ้าสัวเจริญ” 1 พันล้านบาท ที่ส่งบุตรชาย ซื้อหุ้น 50% ในบริษัทลูกแกรมมี่ เป็นเจ้าของช่อง ดิจิทัลทีวี GMM 25 และในเครืออีกหลายบริษัท
บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GRAMMY แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าได้ลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จํากัด วันนี้ (24 ส.ค. 2560) กับบริษัท อเดลฟอส จํากัด ซึ่งมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนาย ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ ถือหุ้นรายใหญ่ ทั้งสองเป็นบุตรชายของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของอาณาจักรธุรกิจเบียร์ช้าง เครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย



บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจํานวน 12,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ100 บาท ให้แก่บริษัท อเดลฟอส จํากัด จํานวน 1,999,999 หุ้น ในราคาจองซื้อหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 199,999,900 บาท

นอกจากนี้ บริษัท อเดลฟอส จำกัด จะจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามจํานวนที่ตนได้รับการเสนอขายตามสิทธิของตน ทั้งหมด 10,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 1,000,000,000 บาท รวมเป็นเงินที่บริษัทของบุตรชายเจ้าสัวเจริญซื้อบริษัทในเครือแกรมมี่ประมาณ 1,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 50% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด
บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จํากัด ดำเนินธุรกิจ เช่น ช่อง จีเอ็มเอ็ม 25 ธุรกิจวิทยุ เอไทม์มีดีย
ก่อนหน้านี้บริษัทที่มีนายฐาปน และนายปณต เป็นเจ้าของก็ได้ซื้อช่องอมรินทร์ 34 โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2559 บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมบริษัทเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2559 มีมติอนุมัติออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น เพื่อจัดสรรและเสนอขายให้แก่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ที่ถือหุ้นเกือบทั้งหมดโดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี บุตรของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นมูลค่า 850 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเข้าซื้อหุ้นของบมจ.อมรินทร์ ของนายฐาปน และนายปณต โดยถือผ่านบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ทำให้ “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” ถือหุ้นในบมจ.อมรินทร์ 47.62% ขณะที่ครอบครัวอุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอมรินทร์ จะมีสัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30.83% และผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้น 21.55%

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2559 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าที่ GRAMMY ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 51% และกลุ่มนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ถือหุ้น 49% ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 1,905 ล้านบาท เป็น 3,810 ล้านบาท และนำหุ้นเพิ่มทุนขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ที่มีนางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ลูกสาวของนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ “หมอเสริฐ” เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 99.98%

ทั้งนี้ หลังจากการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ของบริษัท ประนันท์ภรณ์เป็นเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ทำให้บริษัท ประนันท์ภรณ์ ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 50% ขณะที่ GRAMMY เหลือหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 25.50% และกลุ่มของนายถกลเกียรติเหลือหุ้น 24.50%
นางสายทิพย์   มนตรีกุล   ณ  อยุธยา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  สายธุรกิจ  จีเอ็มเอ็ม มีเดีย  บริษัท  จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่  จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า  จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ประกอบด้วย   ช่องจีเอ็มเอ็ม 25    คลื่นวิทยุเอไทม์มีเดีย   จีเอ็มเอ็ม ทีวี  และเอไทม์    ทราเวิลเลอร์    โดยโครงสร้างการบริหารของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง    ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ



19.8.60

บทเรียน START UP




ไม่มีใครทำทุกอย่างคนเดียวได้ – ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่มีใครที่จบงานทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวได้ นี่จึงเป็นเหตุให้เราต้องพึ่งพาคนอื่น โดยในบริบทของธุรกิจคือการขอความช่วยเหลือด้านใดด้านหนึ่ง เช่น เงินทุน บัญชีหรือทางเทคนิคจากผู้ที่เชี่ยวชาญนั่นเอง ซึ่งทั้งหมดเพื่อให้กิจการเดินหน้าไปได้ พร้อมเอื้อต่อการนำความรู้ ความสามารถและเวลาของตัวเองไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ความผิดพลาดทั้งเล็ก-ใหญ่คุณต้องรับผิดชอบ – ในฐานะเจ้าของกิจการ ผู้บริหารหรือคนต้นคิด ไม่ว่าจะมอบหมายงานเพื่อแบ่งเบาภาระต่างๆ ให้ใครแต่ท้ายที่สุดแล้วหากเกิดพลาดขึ้นมา คุณจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ ในทางตรงกันข้ามหากผลงานออกมาดี คุณก็จะได้รับความดีความชอบนั้นด้วย โดยทั้งหมดนี้จะช่วยให้คุณมีทักษะด้านการวางแผน และมอบหมายงานเพื่อลดโอกาสเกิดความผิดพลาด

ความผันผวนของการทำธุรกิจ – ช่วงต้นของการทำธุรกิจ ตั้งแต่ Startup ไปจนถึงผู้ประกอบการประเภทต่าง ล้วนต้องล้มลุกคลุกคลานกับอุปสรรค สลับกับการได้ลิ้มรสความสำเร็จ ภาวะขึ้นลงดังกล่าวไม่ต่างจากการขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา โดยหากผ่านไปได้อย่างน้อยคุณก็จะภูมิคุ้มกันความผิดหวัง หากต้องเจอสถานการณ์ที่แย่กว่าในอนาคตก็จะยังไม่เจ็บหนักเกินไปจนเดินต่อไม่ได้

จำขึ้นใจว่าสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญ – มนุษย์มีชีวิตต่อไปไม่ได้หากขาดเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจ ธุรกิจก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เช่นกันถ้าขาดสภาพคล่องทางการเงิน นี่เป็นบทเรียนสำคัญอีกข้อที่คุณจะได้รู้เมื่อลงมือทำธุรกิจของตัวเอง โดยถ้าคุณสามารถบริหารจัดการตัวเลขไม่ให้มีตัวแดงในบัญชีได้ การคิดต่อยอดหรือขยับขายกิจการก็จะราบรื่น

รู้เลยว่าไฟเขียวไม่ได้เปิดตลอด – ฝันในอากาศและแผนในกระดาษ เมื่อลงมือทำจริงคุณจะรู้เลยว่ามันไม่ง่ายอยากที่คิด เหมือนคนขับรถทุกคนที่อยากให้พาหนะคู่ใจแล่นผ่านไฟเขียวได้ทุกแยก ซึ่งต่างก็รู้ดีว่าโอกาสเกิดขึ้นมีน้อยมาก เรื่องลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ Startup ทั้งหลายต้องทำใจไว้ล่วงหน้าเลยว่าไม่มีทางหลีกพ้น แต่อุปสรรคก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด เพราะถ้าเจอบ่อยๆเข้า คุณย่อมรู้ทางหนีทีไล่ เหมือนขับรถที่เจนทาง สามารถลัดเลาะเข้าตรอกซอกซอยเมื่อเจอไฟแดงเพื่อให้ไปถึงที่หมายได้นั่นเอง

แหล่งที่มา : www.marketeer.co.th 17/8/2017