25.8.60

กลยุทธ์ 4R ของมาลี

เป็นเวลา 39 ปีที่ “มาลี กรุ๊ป” หรือชื่อเดิมคือ “มาลีสามพราน” โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋อง ทำให้เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “มาลี” คนส่วนใหญ่นึกถึงผลิตภัณฑ์สองกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในตลาดน้ำผลไม้พรีเมียม ที่เป็น 1 ใน 3 แบรนด์หลักของเซ็กเมนต์นี้ (อีก 2 แบรนด์คือ ทิปโก้ และดอยคำ)








ถึงแม้ตลาดน้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋อง เป็นรากฐานธุรกิจอันแข็งแกร่งของ “มาลี กรุ๊ป” มาเนิ่นนาน แต่มองในอีกมุมหนึ่งหากยึดแต่ฐานที่มั่นดังกล่าว จะกลายเป็น “ข้อจำกัด” การเติบโตทางธุรกิจทั้งในวันนี้ และอนาคต เพราะตลาดน้ำผลไม้ในไทยที่มีมูลค่า 14,000 ล้านบาท ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ก็เติบโตอย่างมากแค่ Single Digit หรือบางช่วงสถานการณ์อาจอยู่ในภาวะติดลบ อย่างปีนี้ที่เจอผลกระทบจากเศรษฐกิจเข้าไปอีก มีแต่โตลดลง ทำให้ตลาดน้ำผลไม้โดยรวมติดลบ 0.3%


ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มาลีได้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายทั้งในแบรนด์มาลีและการรับจ้างผลิต (Contract Manufacturing หรือ CMG) ไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ อาทิ ภูมิภาค CLMV จีน ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา โดยมีอัตราการเติบโตถึง 30-40% โดยนับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของมาลี กรุ๊ป ซึ่งภารกิจต่อจากนี้ของมาลีกรุ๊ป คือการเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทฯ สู่เป้าหมายการเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก ผ่านกลยุทธ์ ‘4R’ ที่มุ่งเน้นการสร้างความพร้อมในการดำเนินธุรกิจจากภายในองค์กรสู่ภายนอกองค์กร

กลยุทธ์ 4R สู่การเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก
1. Rebrand
มาลี เป็นที่รู้จักในตลาดเมืองไทยมาเกือบ 40 ปี ในชื่อของ “มาลีสามพราน” ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “มาลี กรุ๊ป” ในพ.ศ. 2559 การปรับภาพลักษณ์ของบริษัทในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยน Brand Identity ใหม่ ที่ได้รับการออกแบบให้ดูทันสมัย สื่อถึงความเป็นสากล และสะท้อนความเป็นตัวตนของมาลี ในการเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Growing Well Together” ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ ที่ประกอบด้วย ผู้บริโภค พนักงาน เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจที่มาลี กรุ๊ป ยึดมั่นและให้ความสำคัญมาตลอด 40 ปี





นอกจากการปรับ Brand Identity ใหม่ของมาลีกรุ๊ปแล้ว ในส่วนของผลิตภัณฑ์แบรนด์มาลี ก็ได้มีการปรับ Product Portfolio ใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้สอดคล้องกับทิศทางของบริษัทที่มุ่งเน้นไปยังผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

2. Reorganize
 สร้างความพร้อมให้กับบุคลากรภายในองค์กร โดยปรับโครงสร้างองค์กรทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดทัพทีมผู้บริหารใหม่ รวมถึงการคัดสรรและผลักดันบุคลากรเดิมของมาลี สู่ตำแหน่งที่เหมาะสมกับความสามารถ เพื่อให้เกิดการผสมผสานของทักษะและประสบการณ์ รวมทั้งการปรับโปรแกรมการพัฒนาบุคลากร ที่ประกอบด้วย
1) เพิ่มศักยภาพและทักษะการทำงานให้แก่พนักงานทุกระดับ โดยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น
2) จัดตั้งหน่วยงานใหม่ เช่น Business Development และInternational Business เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก และ
3) การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ด้วยการสร้างความสามัคคีให้พนักงานทุกคนร่วมมือและเชื่อใจกัน รวมถึงมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ







3. Renovate
จัดสรรงบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสถานที่ทำงาน เครื่องจักร และกระบวนการทำงาน ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่นำสมัย เครื่องมือในการวิจัยและพัฒนา ระบบการควบคุมคุณภาพสินค้า และระบบ Back Office เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ประกอบด้วย
1) การวาง Master Plan โรงงานใหม่ทั้งหมดให้ทันสมัยขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
2) ลงทุนเครื่องจักรใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตจาก 300 ล้านลิตรเป็น 330 ล้านลิตรต่อปี รองรับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3) ระบบ Back Office ด้วยการพัฒนาระบบ IT ระบบ CRM รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูล (Data Mining) มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีมงาน และ
4) ปรับปรุงออฟฟิศใหม่ เพื่อให้พนักงานมีความสุขกับการทำงาน ผ่านแนวคิดในการออกแบบ “ให้ออฟฟิศเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2” อาทิการแบ่งโซนระหว่างทำงานและผ่อนคลาย รวมทั้งการนำระบบปรับอากาศที่มีการถ่ายเทอากาศออกไปสู่ข้างนอก เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของพนักงาน

4. Reconnect
มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเสริมแกร่งและพัฒนาความร่วมมือกับบริษัทพาร์ตเนอร์ชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ในการพัฒนาสินค้าใหม่ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต การพัฒนาช่องทางขายและการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Monde Nissin Corporation ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศฟิลิปปินส์,  Mega Lifesciences ผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น

แผนความร่วมมือในรูปแบบใหม่ของมาลีกรุ๊ปในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการตอบสนองต่อสภาพตลาดและความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 






การปรับตัวครั้งใหม่ของมาลีอาจเรียกได้ว่าเป็นการ Transform สู่การเป็น New Generation of Malee เลยก็ได้ จากการปรับกลยุทธ์ การปรับองค์กร การปรับ Mind Set และการให้ความสำคัญกับคนในองค์กร รวมถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของมาลี ที่ตั้งเป้าไว้ชัดเจน ซึ่งนั่นจะทำให้มาลีสามารถเดินไปถึงฝั่งได้ถูกทางและเร็วมากขึ้น
และอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือ การปรับองค์กรจากเดิมสู่องค์กรยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับคนในองค์กรเป็นอันดับแรก เพราะมาลีเชื่อว่าการ Growing Well Together จะสร้างความยั่งยืนได้ในระยะยาว ซึ่งนี่เป็นอีกตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราเห็นว่า การปรับองค์กรและวัฒนธรรมองค์กรระหว่างคน 2 Generation ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า สามารถทำได้ แต่ความยากคือการจะทำให้ Generation Gap นั้นจูนกันติดจะต้องใช้ความเข้าใจและร่วมมือกัน สุดท้ายแล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเปลี่ยน แต่ถ้าองค์กรยังคงยึดอยู่กับสิ่งเดิมๆ แล้วความยั่งยืนจะเกิดได้อย่างไร?

รวบรวมข้อมูลจาก Brandage และ Brandbuffet



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น