17.1.60

ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ


หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของชาติ คือ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส (Food Innopolis) ที่รับผิดชอบโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยรัฐบาลหวังเป็นรากฐานให้กับการสร้างมูลค่าเพิ่มและแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารของไทย
สิ่งหนึ่งที่กำลังเป็นแนวโน้มที่ดีในตลาดผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารก็คือ อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเติบโตขึ้นไปอีก ทั้งนี้ด้วยปัจจัยการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารตามนโยบายภาครัฐ และอาหารเพื่อสุขภาพ ก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มเช่นกัน







อาหารเพื่อสุขภาพ หรือ อาหารเสริมสุขภาพ (health food) สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามคุณสมบัติและประสิทธิภาพ ได้ 4 ประเภท

1) อาหารบำรุงสุขภาพ ที่เมื่อรับประทานแล้วจะมีสุขภาพดี ช่วยบำรุงร่ายกาย เช่น รังนก ซุปไก่สกัด หรือวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ 

2) อาหารป้องกันและรักษาโรค ที่มีสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโรคบางชนิด เช่น น้ำมันปลาช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด และเลซิตินช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล 

3) อาหารลดความอ้วน ที่ช่วยเพิ่มปริมาณอาหารแต่มีคุณค่าทางโภชนาการและให้พลังงานต่ำ เช่น เมล็ดแมงลัก แป้งบุก และกัมชนิดต่างๆ และ 

4) อาหารเสริมสำหรับนักกีฬา ที่เน้นการดูดซึมและให้พลังงานอย่างรวดเร็ว เช่น เครื่องดื่มกลูโคส และเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดต่างๆ 

นอกจากนี้ อาหารเพื่อสุขภาพยังสามารถแบ่งออกได้ตามแหล่งที่มา ได้แก่ 

1) ผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น น้ำมันรำข้าว เลซิตินจากถั่วเหลือง และสาหร่ายชนิดต่างๆ 

2) ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น น้ำมันปลา รังนก ซุปไก่สกัด และนมผึ้ง และ 

3) ผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ ได้แก่ อาหารซึ่งใส่เชื้อจุลินทรีย์ชนิดโพรไบโอติกส์ (probiotics) ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น Lactobacillus sp. และ Bifidobacteria sp. เป็นต้น

แนวโน้มตลาดอาหารเพื่อสุขภาพและโอกาสของผู้ประกอบการไทย
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงวัย (aging society) การย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ (urbanization) และวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี (technology evolution) ส่งผลต่อลักษณะการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยผู้บริโภคยุคใหม่จะมีความฉลาดและรู้จักเลือกสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น และพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มในการซื้อสินค้าดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ จากการวิเคราะห์ของหลายหน่วยงาน อาทิ Euromonitor, InPerspectiveTM, FoodNavigator.com และ Frost & Sullivan จึงยกให้อาหารเพื่อสุขภาพเป็นเมกะเทร็นด์ (mega-trend) อันหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของผู้ผลิตที่จะต้องพยายามคิดค้นและสรรค์สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพชนิดใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายและกำลังมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากผลสำรวจของ Euromonitor International (2012) พบว่า มูลค่าตลาดของอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6-7 ต่อปี และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2560 มูลค่าตลาดอาจสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน บราซิล และสหรัฐอเมริกา ครองอันดับ 1 ถึง 3 ของประเทศที่มีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพสูงที่สุดตามลำดับ ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 19 รองจากประเทศในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียเพียงชาติเดียว แต่ที่น่าสนใจคือประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเวียดนามและกัมพูชา ก็มีมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพรองจากไทยเพียงเล็กน้อย โดยอยู่ในอันดับที่ 20 และ 21 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และซาอุดิอาระเบีย ที่มีมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย และถือเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยอยู่ไม่น้อย

สำหรับตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในส่วนของประเทศไทยนั้นพบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่มาแรงยังคงเป็น
1) ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชันแนล (functional foods & drinks) 
2) อาหารที่มาจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ (naturally healthy foods) 
3) วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (vitamins and dietary supplements) 
4) ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร (herbal products) 
5) ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก (weight management products) 

จากมูลค่าและช่องว่างการตลาดที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างมาก จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยทั้งรายเก่าและรายใหม่จะหันมานำเอาวัตถุดิบและพืชผลทางการเกษตรคุณภาพสูงนานาชนิดที่หาได้ในประเทศไทย มาผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อันจะเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารและเกษตรของไทย และยังสามารถส่งออกเพื่อจำหน่ายนำรายได้กลับสู่ประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

เรียบเรียงโดย MIA Thailand
อ้างอิง กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น