6.1.57

ส่องเทรนด์ค้าปลีกปี′57 โลกออนไลน์กำหนดพฤติกรรม



ปีนี้เป็นอีกปีที่การแข่งขันในวงการค้าปลีกจะเป็นไปอย่างดุเดือด และผู้ค้าต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ข้อดีก็คือ ข้อมูลของลูกค้าไม่ใช่สิ่งที่หาได้ยากเย็น อินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กพร้อมจะเป็นตัวช่วยให้อุตสาหกรรมค้าปลีก เข้าใจความต้องการลูกค้าได้ชัดเจนขึ้น
เบอร์นาร์ด ลูธี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและฝ่ายปฏิบัติการของราคูเท็น บริษัทอีคอมเมิร์ซอันดับสามของโลก รองจากอาลีบาบาและอีเบย์ คาดการณ์ถึงแนวโน้มการค้าปลีกโลกปี 2557 ดังนี้

1.ห้างค้าปลีกพยายามสร้างความบันเทิงให้ลูกค้าเพื่อสร้างยอดขาย เส้นแบ่งระหว่างความบันเทิงกับการช็อปปิ้งจะยิ่งเลือนราง ปีนี้เราจะได้เห็นผู้ค้าปลีกจำนวนมากขึ้นที่หันมานำเสนอประสบการณ์ช็อปปิ้งที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์ เพื่อสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคมากขึ้น

ผู้ค้าปลีกต้องยอมรับว่า โมเดลธุรกิจแบบจ่ายเงิน-ได้ของ อย่างตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อีกต่อไป ผู้บริโภคต้องการความสนุกสนานพร้อมกับข้อมูลระหว่างที่ท่องเว็บและตัดสินใจซื้อสินค้า

2.ผู้ขายจะสต๊อกสินค้าที่ถูกทวีตถึงเพิ่มมากขึ้น
เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อสิ่งที่ผู้บริโภคจะซื้อ และในปี 2557 อิทธิพลดังกล่าวจะขยายไปสู่สิ่งที่ผู้ค้าปลีกจะขาย การเติบโตอย่างรวดเร็วของเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับรวบรวมข้อมูลที่ตรงใจผู้ใช้ อย่าง "พินเทอเรสต์" ซึ่งผู้บริโภคจะโพสต์ผลิตภัณฑ์ที่ชอบ ทำให้ผู้ขายสามารถเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าแบบเรียลไทม์ ชนิดที่การวิจัยตลาดแบบดั้งเดิมเทียบไม่ติด

ชุมชนช็อปปิ้งบนโลกออนไลน์จะถูกผู้ค้าปลีกใช้เป็นเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิความฮิตของกระแสต่าง ๆ และปรับปริมาณสินค้าคงคลังให้สอดคล้องกับแนวโน้มล่าสุด

3.ผู้ค้าปลีกต้องปรับเปลี่ยนข้อมูลบนช่องทางสื่อสารทั้งหมดให้เป็นเอกภาพเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคระหว่างที่ลูกค้าย้ายจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง ที่ผ่านมาผู้ขายตระหนักดีว่าผู้บริโภคสื่อสารกับทางร้านผ่านหลายช่องทาง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการสื่อสารแต่ละครั้งยังเป็นปริศนา

ในแต่ละวันลูกค้าอาจจะติดต่อกับร้านค้าปลีกผ่านสมาร์ทโฟนในตอนเช้าแล้วช็อปปิ้งออนไลน์โดยใช้แล็ปทอปในตอนเที่ยง ช่วงบ่ายอาจมีการกดไลก์ภาพสินค้าบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ภารกิจสำคัญในปี 2557 ของผู้ขาย คือ การลากเส้นต่อจุดระหว่างแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคอย่างครอบคลุม

ข้อมูลที่รวบรวมมาได้จะช่วยให้ผู้ขายเลือกช่องทางที่เหมาะสมในการเข้าถึงลูกค้าทั้งยังสามารถปรับแต่งให้ให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้บริโภคแต่ละคนด้วย

4.ห้างค้าปลีกจะส่งข้อเสนอเข้ามือถือลูกค้าเมื่อก้าวเข้าประตูห้างความฝันที่จะเจาะเป้าหมายผู้บริโภคแบบเรียลไทม์ ด้วยข้อเสนอที่เฉพาะเจาะจง เริ่มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อแอปเปิลเปิดตัวฟังก์ชั่น

"ไอบีคอน" ช่วงปลายปีที่แล้ว ฟีเจอร์ดังกล่าวช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถตรวจจับอุปกรณ์สื่อสารในพื้นที่ของตัวร้าน และส่งข้อเสนอที่น่าสนใจให้ลูกค้าเป้าหมาย

ลูธีคาดว่าจะเห็นการใช้เทคโนโลยีลักษณะนี้อย่างจริงจังมากขึ้นในปีนี้ทั้งร้านค้าปลีกออนไลน์และร้านค้าที่มีหน้าร้าน

5.ผู้ค้าปลีกจะเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงของลูกค้า
(Customisation) มากขึ้น ลูกค้ายุคปัจจุบันไม่ต้องการสินค้าที่ดูเหมือน ๆ กันไปหมด สิ่งที่พวกเขามองหาต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ และสะท้อนตัวตนของผู้ใช้ ผู้ค้าปลีกเข้าใจจุดนี้ดี เราจึงเห็นสินค้าตามสั่งมากขึ้น ตั้งแต่สลักชื่อหรือตัวอักษรตามต้องการไปจนถึงเลือกตำแหน่งซิปหรือสีกระเป๋าล่วงหน้า

เทรนด์นี้เป็นโอกาสของ SMEs เพราะสามารถเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มได้ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่มีอยู่แล้วผ่าน Customisation ได้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น คอนเซ็ปต์ของ Customisation ไม่เพียงใช้ได้กับสินค้าเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงประสบการณ์ช็อปปิ้งแบบที่ผู้บริโภคต้องการ ซึ่งผู้ขายสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าศึกค้าปลีกจะเข้มข้นแค่ไหนคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็คงเป็นผู้บริโภค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น