12.4.55

36 กลยุทธ์


             เมื่อพูดถึงคำว่า กลยุทธ์ บ่อยครั้งที่เรานึกถึงอมตะนิยายเรื่องสามก๊ก หรือไม่ก็ตำราพิชัย สงครามของ ซุนวู “ ทั้งนี้ก็เนื่องจากสมัยก่อนที่มีการรบราฆ่าฟันกัน เพื่อชิงความเป็นใหญ่และ การปกครองดินแดน และก็การที่จะเอาชนะ แต่ละพวกก็ย่อมจะต้องเตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะจิต จักต้องเยือกเย็น ฉับไว และคิดค้นอุบายร้อยแปด เพื่อพิชิตศัตรู หลอกลวงศัตรู กระทั่งหลบหลีก จากเงื้อมมือศัตรู และดังนั้น ด้วยการสั่งสมจากประสบการณ์ในสงคราม นักรบผู้กล้า นักวางแผนผู้ชาญฉลาด นักยุทธศาสตร์ยุทธวิธีผู้เจนศึก ก็ปรากฎขึ้นมากหน้าหลายตา แล้วสติปัญญาของพวกเขาเหล่านี้ก็ตกผลึกเป็นตำราพิชัยสงคราม ถือกำเนิดและถ่ายทอดกันมานานนับศตวรรษ แต่เนื่องด้วยระยะเวลาอันยาวนาน และความโกลาหลวุ่นวายในสงคราม ทำให้ตำราพิชัยสงครามกระจัดกระจาย ตกๆหล่นๆ ขาดๆ วิ่นๆ การตีความของคนรุ่นหลังก็ว่ากันไปคนละทิศละทาง

            36 กลยุทธ์ ฉบับที่เขียนด้วยลายมือ มีการคัดลอกถ่ายทอดกันมาในประเทศจีน โดยไม่ปรากฎชื่อผู้เขียน ว่ากันว่าเป็นตำราที่ประมวลเอากลยุทธ์ที่สำคัญๆ ที่มีอยู่ในตำราพิชัยสงครามต่างเข้าไว้

            36 กลยุทธ์ แบ่งออกเป็น 6 ส่วน แต่ละส่วนมี 6 กลยุทธ์ จึงรวมเป็น 36 กลยุทธ์ โดยใน 6 ส่วนหลักๆจะมีที่ใช้ในสถานการณ์ที่ต่างกันดังนี้
1. กลยุทธ์ชนะศึก ยามเมื่อเราเป็นฝ่ายเหนือกว่า ก่อนอื่นต้องสยบข้าศึกลงไป ใช้การรุกรบอย่างเป็นฝ่ายกระทำ ทำสงครามด้วยรูปการที่เป็นผลดีที่สุด กลยุทธ์ที่มักใช้กันในส่วนนี้ เช่น ยืมดาบฆ่าคน ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม เป็นต้น
2. กลยุทธ์เผชิญศึก ยามเมื่อเผชิญศึก เท็จลวงกับจริงแท้ พึงใช้สอดแทรกซึ่งกันและกันอย่างสลับซับซ้อน ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ กลยุทธ์ที่ใช้บ่อยในส่วนนี้ เช่น ซ่อนดาบในรอยยิ้ม
3. กลยุทธ์เข้าตี เมื่อสองฝ่ายเริ่มรบด้วยกลศึก พึงใช้ทุกมาตรการ ถือเพทุบายเป็นวิถี เอาชนะด้วยเล่ห์กล กลยุทธ์ที่ใช้กันมากและคุ้นเคยกันเช่น ล่อเสือออกจากถ้ำ แสร้งปล่อยเพื่อจับ ตีหญ้าให้งูตื่น เป็นต้น
4. กลยุทธ์ติดพัน เมื่อเกิดศึกชุลมุน พึงตีหัวใจเป็นสำคัญ ลวงข้าศึกให้หย่อนการป้องกันสยบข้าศึกด้วยอ่อนพิชิตแข็ง กลยุทธ์ที่มักใช้ในส่วนนี้คือ กวนน้ำจับปลา ปิดประตูจับโจร
5. กลยุทธ์ร่วมรบ เมื่อร่วมรบด้วยพันธมิตร พึงให้ได้อำนาจบัญชาการ ทั้งฝ่ายเราและศัตรู กลยุทธ์ในส่วนนี้ที่ใช้กัน เช่น สลับแขกเป็นเจ้าของบ้าน ลักขื่อเปลี่ยนเสา เป็นต้น
6. กลยุทธ์ยามพ่าย เมื่อกำลังเราอ่อนแอ แต่ศัตรูกล้าแข็งฮึกห้าว พึงรีบถอยโดยเร็ว ที่ถอยใช่แพ้ แต่เตรียมตีโต้กลับเมื่อพร้อม กลยุทธ์ที่ใช้กันมาก เช่น กลไส้ศึก และ กลยุทธ์ หนี “

            ในการเลือกใช้กลยุทธ์แต่ละส่วนนั้น ก่อนอื่นก็ต้องประเมินตนและสภาวะแวดล้อมทั้งห้า ตามหลักของตำราพิชัยสงครามก่อน (มีโอกาสจะกล่าวในตอนต่อไป) เมื่อรู้จุดเด่น จุดด้อย โอกาส และอุปสรรค ดังนั้นจึงค่อยเลือก 6 ส่วนกลยุทธ์ ซึ่งแต่ละส่วนจะประมี 6 กลยุทธ์ย่อยให้เลือกใช้อีกที ดังที่กล่าวมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น