16.1.60

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร 2560


ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไทย
“ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน “




นโยบาย ประเทศไทย 4.0 นั้นมียุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก(จะมาเล่าให้ฟังโดยละเอียดเพื่อการวางยุทธศาสตร์อีกครั้ง) และหนึ่งในนั้นคือ อาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ(Biotechnology) ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องอยู่ใน supply chain เดียวกัน

ปีที่ผ่านภาวะเศรษฐกิจลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน
จากตัวเลขที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้สรุปไว้ จะเห็นว่าภาคการเกษตรโดยภาพรวมลดลง แต่มีการเติบโตในบางส่วนของอุตสาหกรรมนั่นคือ ปศุสัตว์และประมง เนื่องจากฟาร์มส่วนใหญ่มีการปรับมาตรฐาน มีการวางแผนการผลิต ดูแลและบริหารจัดการเป็นระบบตามแนว “ Smart Farm ” ทำให้แม้ว่าจะมีปัญหาจากอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจึงไม่มีผลกระทบมากนัก ปริมาณผลผลิตโดยรวมยังเพิ่มขึ้น



ในส่วนของประมงนั้น ในอดีตประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการผลิตกุ้งทะเลมาจากปัญหาโรค “ Early Mortality Syndrome “ หรือ EMS มีคนเรียกเป็นภาษาไทยว่าโรคตายด่วน ทำให้เกษตรกรที่ทำฟาร์มกุ้งพบกับภาวะขาดทุน แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาสถานการณ์โรคนี้ดีขึ้น และเกษตรกรก็มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้นด้วย จึงทำให้เศรษฐกิจเกษตรในภาคประมงปรับตัวดีขึ้นตาม

สำหรับสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตรที่ปรับตัวลดลงนั้นเนื่องจากปัญหาของสภาพอากาศที่แปรปรวนปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ก่อให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ตั้งแต่ปลายปี 2558 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2559 ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักต่างๆไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรหลักๆ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และผลไม้ ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558

ในเรื่องการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ก็มีทิศทางลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญอย่างจีน ชะลอตัว และมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยก็ยังไม่ถึงระดับแข่งขันได้ในตลาดยุโรปและอเมริกา เนื่องด้วยปัญหาการใช้สารเคมีในการผลิตการเกษตรยังมีอยู่มาก 



แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560
คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจการเกษตรจะมีการเติบโตในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม ทั้ง สาขาพืช ปศุสัตว์ ประมง บริการทางการเกษตรและป่าไม้ โดยภาพรวมคาดว่าจะเติบโตในช่วงร้อยละ 2.4-3.4 (ตัวเลขแสดงในภาพ)  ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยบวกต่างๆคือ

1) นโยบายกระทรวงเกษตรที่ดำเนินอย่างต่อเนือง และปี2560 นี้จะเป็นปีแห่งการยกระดับมาจรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน (Changing Toward Smart Agriculture) สอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยจะยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการบริหารจัดการแบบธุรกิจเกษตร พัฒนาด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี องค์ความรู้แบบองค์รวม รวมถึงการสนับสนุนการผลิตที่สะอาดและปลอดภัยได้มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2) สภาพอากาศและปริมาณน้ำคาดการณ์ว่าจะเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากกว่าปีที่ผ่านมา




3) เศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีทิศทางดีขึ้น เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามที่จะมีผลต่อการเติบโตคือเรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่มีการคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำมันสำรองของสหรัฐลดลง กลุ่มโอเปคก็ประกาศลดกำลังผลิตลง แต่ความต้องการน้ำมันในภาวะเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าจะดีขึ้นจะมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้น มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร
อีกปัจจัยสำคัญที่น่าติดตามคือสภาวะเศรษฐกิจซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอย่างจีน มีแนวโน้มว่าจะยังชะลอตัว อาจจะมีผลกระทบในเรื่องการส่งออก
เกษตรกรต้องเร่งปรับมาตรฐานการผลิตและภาครัฐต้องส่งเสริมการทำมาตรฐานผลผลิตด้วยเพื่อจะได้เข้าสู่ตลาดอเมริกาและยุโรปได้ (แม้ว่าในยุโรปสภาวะเศรษฐกิจจะเติบโตน้อยที่สุด แต่ทีมงานประเมินจากตลาดยุโรปบางส่วนที่ต้องการสินค้าคุณภาพและมีกำลังซื้อ เช่น สแกนดิเนเวียน เยอรมัน อังกฤษและฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นตลาดที่สามารถทำมูลค่าได้มาก ไม่ได้แข่งขันด้านราคาอย่างเดียว


รวบรวมโดยทีมงาน MIA 
4 มกราคม 2560 
อ้างอิง : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น