8.1.57

สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง กลยุทธ์การตลาดที่มาแรง

        ในสถานการณ์ที่ชีวิตทุกวันนี้มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต่างก็รุมเร้าให้คนไทยมีความเครียดสูงขึ้น การหาเวลาไปทำกิจกรรมต่างๆ
        ในยามว่างเพื่อผ่อนคลายความเครียด และปรับสมดุลของทั้งสุขภาพใจ และกายจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และในจุดนี้เองก็เป็นจุดที่แบรนด์ต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนเชื่อมโยงกับผู้บริโภคผ่านการสนับสนุนงานกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้บริโภคได้
        จะขอนำเสนอการทำกลยุทธ์การตลาดผ่านกิจกรรมยอดนิยมอย่าง กีฬาหรือสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ให้ทุกท่านได้รับทราบเป็นข้อมูล ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังมอง และสนใจการทำตลาดลักษณะนี้กันอยู่

        เมื่อดูข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัยมีเดียอินเด็กซ์ของบริษัทวิจัยนีลเส็นแล้วก็พบว่า นอกเหนือไปจากการดูหนังฟังเพลงที่เป็นกิจกรรมหลักๆ ที่มีคนไทยถึง 84% และ 42% ชอบทำยามว่างแล้ว การเล่นกีฬา/ออกกำลังกายก็เป็นอีกกิจกรรมที่คนไทยจำนวนถึง 40% นิยมทำรองๆ ลงมา และตามด้วยการเล่นอินเตอร์เน็ต (23%) การเล่นเกม (16%) ตามลำดับ
       
        และจากพฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบันที่หากอยากรู้ว่าอะไรกำลังเป็นที่นิยมอยู่ ก็ให้ไปดูว่าคนส่วนใหญ่เข้าไปดูอะไรกันในอินเตอร์เน็ต เราจึงลองเข้าไปหาดูว่ากีฬาอะไรที่เป็นที่นิยมกันอยู่ในตอนนี้โดยเข้าไปเช็กอันดับเว็บไซต์หมวดกีฬาในฐานข้อมูลของ Truehits.net เราก็พบว่าใน 10 อันดับเว็บกีฬาที่มีคนเข้าต่อวันมากที่สุดนั้น มีถึง 7 เว็บที่เป็นเว็บเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล โดยมีเว็บสื่อกีฬา/บันเทิง 2 เว็บ และเว็บกีฬาจักรยาน ที่เป็นกิจกรรมฮิตใหม่ล่าสุดของคนเมืองหลุดเข้ามาในรายชื่อ Top 10 นี้ด้วย


        เมื่อลองดูจำนวนคนเข้าชมเว็บไซต์กีฬาเหล่านี้ (UIP) เป็นรายเดือนก็จะเห็นว่า ปริมาณคนเข้าไปติดตามอ่านข้อมูล และ/หรือเข้าไปพูดคุยกันเกี่ยวกับกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลนั้น เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลนี้ก็สอดคล้องกับปรากฏการณ์บอลไทยฟีเวอร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่คนไทยหันมาดูบอลไทยหรือที่เรียกกันว่า ไทยพรีเมียร์ลีก กันอย่างกว้างขวาง ขนาดที่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้หญิงหรือกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้ดูฟุตบอลมาก่อนยังหันมาเป็นแฟนคลับ และติดตามดูทีมโปรดของตนเองเป็นจำนวนมาก
  
        ความนิยมในตัวไทยพรีเมียร์ลีกมากขึ้นหรือไม่ ดูได้จากยอดผู้ชม และยอดรายรับของทีมฟุตบอลในไทยพรีเมียร์ลีก (TPL) ต่างก็เพิ่มขึ้นเรื่อยมา โดยยอดผู้ชมตลอดทั้งฤดูกาลแข่งขันเพิ่มขึ้นจาก 1,132,057 คนในปี 2010 เป็น  1,475,769 คนในปี 2012 (+30%) ยอดขายบัตรผ่านประตูเพิ่มขึ้นถึง 87% เป็น 119,025,040 บาท และยอดขายของที่ระลึกของทีมต่างๆ เพิ่มขึ้น 50% เป็น 52,702,135 บาทในปี 2012
        และหากนำข้อมูลยอดผู้ชม และรายได้ของ League 1 หรือฟุตบอลดิวิชัน 1 ของไทยมานับรวมด้วย (มีข้อมูลเฉพาะของปี 2012) ก็จะทำให้ยอดผู้ชม และรายได้รวมของทั้ง 2 ลีกแตะถึงกว่า 2.1 ล้านคน และกว่า 220 ล้านบาทในปี 2012
  
        จะเห็นได้จากยอดผู้เข้าชมว่า กลุ่มแฟนบอลไทยนั้นมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยนอกจากการที่คนในท้องถิ่นต่างก็เริ่มมีความรู้สึกอยากสนับสนุนทีมกีฬาในเขตของตนเองกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ทีมบอลทุกทีมต่างก็หันมาทำการตลาดเพื่อสร้างกระแสความนิยม และฐานกลุ่มแฟนคลับของตนเองขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังเสียง และกำลังทรัพย์ให้กับทีมตน ซึ่งกลุ่มแฟนบอลเหล่านี้นอกจากจะชอบดูบอลแล้วยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ยอมที่จะจ่ายเงินค่าตั๋วเข้าชม และซื้อสินค้าต่างๆ อย่างเช่น หมวก ธง เสื้อทีม เพื่อสนับสนุน และแสดงออกถึงความรักในทีมของตน ดังนั้นการเข้าไปสนับสนุนหรือทำโฆษณากับทีมต่างๆ นั้นจึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปเจาะและซื้อใจคนกลุ่มนี้
    โดยการเข้าไปสนับสนุนทีมต่างๆ เหล่านี้สามารถทำได้หลายระดับตามกลยุทธ์ และกำลังทรัพย์ของแต่ละแบรนด์ โดยเริ่มจากการเข้าไปซื้อป้ายโฆษณาต่างๆ ในบริเวณสนาม การเป็นสปอนเซอร์ทีมที่จะมีโลโกติดอยู่กับชุด ตั๋วเข้าชม และผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกต่างๆ ของทีม จนถึงการเข้าไปซื้อชื่อหรือช่วยลงทุนในการสร้างสนามกีฬาของทีม

  
        และหากมองในแง่ของพื้นที่ เนื่องจากทีมในไทยพรีเมียร์ลีกมี 18 ทีมบวกกับทีมในลีกวันอีก 18 ทีม โดยทีมต่างๆ เหล่านี้กระจายอยู่ในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งแบรนด์เองสามารถเลือกที่จะสนับสนุนหรือโฆษณาเป็นทีมๆ ในเขตจังหวัดหรือภูมิภาคที่ตนต้องการจะเข้าไปเจาะหรือสร้างสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น หรืออาจจะเลือกสปอนเซอร์ทั้งลีกเพื่อให้มีชื่อ และโลโกเป็นเจ้าของลีกในปีนั้นๆ และโปรโมตแบรนด์ตัวเองในระดับประเทศก็ได้ นอกจากนั้น การที่ทีมบอลทุกทีมในลีกต่างก็ต้องหมุนเวียนไปเตะในสนามของทีมอื่นๆ ก็ทำให้กลุ่มผู้ชมในท้องที่ต่างๆ จะมีโอกาสเห็นแบรนด์เราเพิ่มไปด้วยอีกเช่นกัน
  
        การที่แบรนด์เข้าไปโฆษณาหรือสนับสนุนทีมกีฬา โดยเฉพาะหากทำอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้แบรนด์สามารถซึมเข้าไปในการรับรู้ประจำวันของแฟนกีฬาเหล่านี้ได้ นอกจากนั้นหากแบรนด์สามารถเพิ่มเติมการสนับสนุนจัดกิจกรรมต่างๆ ระหว่างทีมกับแฟนๆ ได้ ก็คงไม่ยากกับการที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงเหล่านี้จะมีความรัก และความคิดในแง่ที่ดีกับแบรนด์ที่ทำให้ตนสามารถใช้เวลากับทีมกีฬาที่ตนชอบได้ และในท้ายที่สุดแฟนคลับเหล่านี้ก็จะพร้อมที่จะสนับสนุนแบรนด์ เพื่อให้แบรนด์มีกำลังมาสนับสนุนตน และทีมของตนต่อในปีต่อๆ ไปได้อีกนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น